โครงการแพทย์อาสาร่วมใจ ถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร


โครงการแพทย์อาสาร่วมใจ ถวายเป็นพระราชกุศล
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

16 ตุลาคม 2559 – 29 มกราคม 2560 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
และ วันที่ ๒๑ – ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ พระเมรุมาศจำลอง ถนนราชดำเนินกลาง (บริเวณกองสลาก)

 

กำเนิดโครงการแพทย์อาสาร่วมใจ ถวายเป็นพระราชกุศลฯ

           มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ โดยท่านประธาน ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ร่วมกับแพทยสภา และนักศึกษาหลักสูตรฯ ปธพ.รุ่นที่ 1-5  ได้มีความเห็นตรงกันว่า ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรทางการแพทย์มากที่สุดและมีความประสงค์อยากทำความดีถวายในหลวง ในระหว่างที่ทุกคนต่างเศร้าโศกเสียใจจึงร่วมกันจัดตั้งโครงการแพทย์อาสาร่วมใจถวายเป็นพระราชกุศลฯ ขึ้นในคืนวันที่ 15 ตุลาคม 2559 มีการประชุมร่วมกัน และเปิดดำเนินการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทันที ในวันที่ 16 ตุลาคม 2559 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยได้รับความร่วมมือจาก กทม. กระทรวงสาธารณสุข และกรมแพทย์ทหารบก โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่ ตั้งแต่ยังไม่มีเต็นท์คลุมกันแดด เพื่อช่วยประชาชน จนถึง ทาง กรุงเทพมหานครฯ ได้มอบหมายพื้นที่ให้ดูแลจัดการ บริเวณตรงข้ามวัดพระศรีมหาธาตุในท้องสนามหลวง เป็น หน่วยงานแรกภายใต้เต็นท์ขนาดเล็ก 3 หลัง มีแพทย์ออกตรวจ จำนวน 4-6 ท่าน และได้รับการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัช รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี ได้รับการสนับสนุนเภสัชกรจากหน่วยเภสัชกรอาสา, พอ.สว., รพ.ศิริราช, รพ.รามาฯ และ รพ.จุฬาฯ ได้รับการสนับสนุนโปรแกรมระบบการบริหารจัดการข้อมูลจาก รพ.ศิริราช ได้รับการสนับสนุนบริหารจัดการเต็นท์ จาก บ.ปตท. และ บ.ทีวีไดเร็ค ร่วมกับ แพทยสภา ได้รับการสนับสนุนอาหารและเครื่องดื่มจาก บ.แบล็คแคนยอน, นศ.ปธพ.1-5 และอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งในช่วงแรกมีการรักษาคนไข้ต่อวัน 300 ถึง 500  คน

คลินิกแพทย์อาสา

          วันที่ 22 ตุลาคม 2559 เกิดกิจกรรมขนาดใหญ่คือการร้องเพลงเต็มพื้นที่ท้องสนามหลวง มีคนมากกว่า 200,000 คนและมีผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ มากกว่า 200 ราย ทำให้เต็นท์อาสาขยายพื้นที่เป็น 2 เท่า เพื่อรองรับผู้ป่วย ให้นอนพักได้ และขยายให้มีหมออาสามาให้บริการ 12 -20 คน ต่อวัน ซึ่งดูแลคนไข้ตั้งแต่ 200 - 600 ราย ระบบเป็นไปได้ด้วยดี มีการขอคำแนะนำจากแพทย์ที่มีมาทำงานในระบบทุกวัน มีการพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเท่ากับโรงพยาบาลสนาม และมีการเพิ่มบริการวัดความดัน ให้กับประชาชนเพื่อสืบค้นโรคความดันสูง เพื่อนำมารักษา ทุกวัน วันละ สองร้อยคนขึ้นไป

          28 ตุลาคม 2559 พายุเข้าสนามหลวงทำให้เต็นท์แพทย์อาสา จำนวน 6 เต็นท์ ที่ประกอบกัน มีฝนตก น้ำรั่ว เข้าอุปกรณ์การแพทย์ และเตียงผู้ป่วย จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จึงได้รื้อเต็นท์ และเปลี่ยนเป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ 8 x 24 เมตร และจัดพื้นที่รองรับประชาชน ในระบบโรงพยาบาลสนาม พร้อมติดเครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศฆ่าเชื้อโรค เพื่อรองรับคนไข้ได้มากกว่า 1,000 คนต่อวัน

          1 พฤศจิกายน 2559 มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี (พอ.สว.) โดยท่านเลขาธิการ นพ.ยุทธ โพธารามิก ได้ส่งทีมแพทย์อาสาเข้าร่วมกิจกรรมทุกวันทำการ โดยมาจาก รพ.ทั่วประเทศ ร่วมกับแพทย์อาสาจาก สมาคมโรงพยาบาลเอกชน รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.จุฬา รพ.ทหาร รพ.ตำรวจ และอีกหลายสังกัด ทำให้ปริมาณบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงานในเต็นท์แพทย์อาสา มีจำนวน 50 - 100 คนทุกวัน

          การดำเนินงานของเต็นท์แพทย์อาสาเปิดทำการทุกวัน ยกเว้น วันที่ปิดสนามหลวงเพื่อทำพิธีครบ 50 วัน (1-2 ธ.ค. 59) และครบ 100 วัน (20-21 ม.ค. 60) โดยแพทย์อาสาได้กำหนดจะออกหน่วยจนถึงวันที่ 29 ม.ค. 60 ครบ 109 วัน และได้จัดทำต้นไม้แห่งความดีของ ตามแนวคิดของ  ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับประชาชนในปลายรัชกาลที่ 9 ต่อไป จึงได้ทำพิธีปิดเต็นท์แพทย์อาสาในคืนดังกล่าว แล้วคืนพื้นที่ให้กับทางราชการเพื่อสร้างพระเมรุมาศต่อไป

26 ตุลาตม 2560 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ แพทยสภา, มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์, นักศึกษา ปธพ.1-6 ได้เปิดโครงการแพทย์อาสาร่วมใจถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศจำลอง ถนนราชดำเนินกลาง (บริเวณกองสลาก) ขึ้นอีกครั้ง ในระหว่างวันที่ วันที่ ๒๑ – ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งในครั้งนี้เกิดจากแพทย์ไทย ทั้งภาครัฐใน 5 กระทรวง ทั่วประเทศ และภาคเอกชน แล้วยังได้ข้อสรุปเป็นเต็นท์โรงพยาบาลสนามต้นแบบของแพทย์อาสาที่จะเผยแพร่ให้กับแพทย์ทั่วประเทศสามารถนำไปใช้ในยามเกิดวิกฤตได้ทันที โดยทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์, แพทยสภา และ นศ.ปธพ.ทั้ง 6 รุ่นที่ทำให้เกิดโครงการการกุศลขนาดใหญ่ จนครบ 118 วัน โดยสมบูรณ์ เพื่อจารึกเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของวงการแพทย์ไทยต่อไป ในอนาคต สรุปยอดผู้มารับบริการ 44,711 คน และแพทย์ 2,256 คน, พยาบาล 2,836 คน เภสัชกร 2,423 คน, จิตอาสา 2,342 คน รวมจิตอาสาทั้งสิ้น 9,857 คน