ความเป็นมา


ประวัติ ปธพ.


พระราชดำรัสนำมาซึ่งหลักสูตรสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์ไทย

          หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) เป็นหลักสูตรที่ออกแบบขึ้นเพื่อสนองพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่คณะกรรมการแพทยสภาว่า.... ในยุคที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งขอให้แพทย์ไทย 

"อ่อนน้อม ถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร"

         แพทยสภาจึงได้น้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าวมาจัดหลักสูตรการศึกษาระดับสูงให้ผู้บริหารทางสายการแพทย์เพื่อการศึกษาเรียนรู้ในหลายมิติเริ่มจากการศึกษาร่วมกันของแพทย์ซึ่งจบจากคณะแพทยศาสตร์ต่างมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันมี 23 แห่ง) และปฏิบัติงานอยู่ใน 4 เสาหลักทางการแพทย์ไทย ได้แก่

  1. ครูแพทย์ (คณะแพทยศาสตร์)
  2. แพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข(77 จังหวัด)
  3. แพทย์ในภาครัฐอื่น ๆ(ตำรวจ ทหาร กทม.)
  4. แพทย์ในภาคเอกชน

ซึ่งแพทย์ทั้ง ๔ เสาหลัก จะร่วมกันดูแลระบบสาธารณสุขไทย และประชาชนไทยร่วมกับ ๒ เสาเสริมคือ องค์กรภาครัฐและเอกชน (๔+๒=๖) ผู้บริหารทั้ง ๖ เสา จะมาเรียนรู้ระบบการแพทย์ไทยร่วมกันแบบบูรณาการ นำข้อเท็จจริงในมุมที่ต่างกันมาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขของประเทศร่วมกันด้วยกลไกของธรรมาภิบาล โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทยไปในทิศทางที่สอดคล้องกันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ปัจจุบัน หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูงเป็นหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติตามมติกรรมการแพทยสภาและผ่านการพัฒนาโดยสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 10 รุ่นและมีนักศึกษาทั้งสายการแพทย์และสายอื่น รวมทั้งสิ้น 1,355 คน มูลนิธิฯ โดยท่านประธาน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ได้เข้ามาดูแลตั้งแต่รุ่นที่ 4 จนถึงปัจจุบัน และขยายงานแพทย์อาสาและจิตอาสาไปหลายโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

รุ่น

ระยะเวลาการอบรม

จำนวนผู้อบรม

หลักสูตร ปธพ. รุ่นที่ 1

28 กันยายน 2555 – 9 มีนาคม 2556

120 คน

หลักสูตร ปธพ. รุ่นที่ 2

14 มิถุนายน 2556 – 2 พฤศจิกายน 2556

120 คน

หลักสูตร ปธพ. รุ่นที่ 3

24 กันยายน 2557 – 25 เมษายน 2558

128 คน

หลักสูตร ปธพ. รุ่นที่ 4

24 กันยายน 2558 – 15 พฤษภาคม 2559

129 คน

หลักสูตร ปธพ. รุ่นที่ 5

24 กันยายน 2559 – 15 พฤษภาคม 2560

140 คน

หลักสูตร ปธพ. รุ่นที่ 6

3 พฤศจิกายน 2560 – 3 มิถุนายน 2561

140 คน

หลักสูตร ปธพ. รุ่นที่ 7

24 กันยายน 2561 – 16 มิถุนายน 2562

140 คน

หลักสูตร ปธพ. รุ่นที่ 8

24 กันยายน 2562 – 13 กันยายน 2563

150 คน

หลักสูตร ปธพ. รุ่นที่ 9

26 พฤศจิกายน 2563 – 20 ธันวาคม 2564

145 คน

หลักสูตร ปธพ. รุ่นที่ 10

7 ตุลาคม 2565 - 24 มิถุนายน 2566

143 คน

 

            ผู้ที่เข้ารับการศึกษาในหลักสูตรนี้มาจาก 6 เสาหลักในวงการแพทย์คือ แพทย์ผู้บริหารจาก (1) มหาวิทยาลัย หรือครูแพทย์ (2)กระทรวงสาธารณสุข (3)ทหาร ตำรวจ และแพทย์ภาครัฐอื่น (4)แพทย์ภาคเอกชน ร่วมกับผู้บริหารที่มิใช่แพทย์ (Non MD) ภาครัฐในเสาที่ (5)  และผู้บริหารธุรกิจเอกชนในเสาที่ (6) มาเรียนรู้หลักธรรมาภิบาลทั้ง 6 พร้อมข้อมูลและปัญหาระบบสาธารณสุขไทย โดยน้อมนำพระราชดำรัสไปสู่ 6 ขั้นตอนกล่าวคือ

            (1) นำความ "อ่อนน้อมถ่อมตน" สร้างให้เกิดความรักและสามัคคีกันในหมู่ผู้บริหารระดับสูง ที่มาจากบุคคลสำคัญ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาของระบบสาธารณสุขไทย ด้วยความสัมพันธ์น้องพี่ต่อเนื่องระยะยาว

            (2) ปลูกฝังความคิด "ทุกคนมีดี"  ให้เรียนรู้กันว่าในแต่ละเสาหลักมีคุณความดี มีจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกัน หากเข้าใจข้อดีกันแล้ว ย่อมร่วมมือแก้ไขปัญหาของตนได้อย่างง่ายดายโดยปราศจากอคติต่อกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จแบบยั่งยืน

            (3) ให้พึงระลึกเสมอว่า "อย่าดูถูกใคร" เหตุเพราะความรู้ในโลกมีมากมายหากข้อมูลไม่พอ ไม่เข้าใจ หรือใช้เหตุผลของตนเองเป็นหลักอาจพลาดไปดูถูกผู้อื่นได้ หลักสูตรนี้จึงเน้นการนำข้อเท็จจริงทุกด้านที่เกี่ยวข้อง มาเรียนรู้สังเคราะห์ให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกัน หลักสำคัญ คือ ให้ดู "ข้อเท็จจริง" ให้เพียงพอแทน จะไร้ซึ่งข้อขัดแย้งของอวิชา

            (4) วิเคราะห์ปัญหาสาธารณสุข ด้วย "ธรรมาภิบาล" คัดเลือกปัญหาที่สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศรุ่นละ 10 หัวข้อนำมาออกแบบเป็น "งานวิจัย" โดยผู้ปฏิบัติงานใน 6 เสาหลัก ภายใต้มาตรฐานของสถาบันพระปกเกล้า หวังใช้ผลการวิจัยมาแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขไทยให้ได้อย่างจริงจังเป็นรูปธรรม

            (5) เรียนรู้ "รักในหลวงภาคปฏิบัติ" โดยจัดให้มีกิจกรรม การออกหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางเฉลิมพระเกียรติฯ และแพทย์อาสาหลายรูปแบบ ขึ้นเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้ปัญหาของการให้บริการผู้เจ็บป่วย เข้าใจความทุกข์ของคนไข้ที่รอคอยในต่างจังหวัด และร่วมกันวางแผนแก้ปัญหาแบบเป็นรูปธรรม เข้าถึงปัญหาจริงของระบบสาธารณสุข พร้อมสร้างความสมานฉันท์ของหน่วยงานสาธารณสุข 5 กระทรวงในภาครัฐและเอกชน ในการทำงานกับพื้นที่เป้าหมายในลักษณะ “รพ.สนามต้นแบบ” ทั้งในการรักษาและช่วยเหลือทางวิชาการระยะยาว เพื่อร่วมใจถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา

            (6) จากงานวิจัยสู่ “งานพัฒนาแก้ปัญหาประเทศ" โดยเสนอผลการวิจัยในการประชุมวิชาการประจำปีของ แพทยสภา-ปธพ. ให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องรับฟัง และพิมพ์เผยแพร่สาธารณะ นำไปสู่การริเริ่มแก้ไขในหน่วยงานที่มีปัญหา ทำให้งานวิจัยสามารถขยายผลไปเกิดประโยชน์จริงกับระบบสาธารณสุขไทย ทั้งนี้มีจำนวนมากถูกนำไปใช้แล้ว

            ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตรฯต้องขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณนักศึกษารุ่นที่ 10 ที่มีความวิริยะอุตสาหะจนผ่านจนเป็นงานวิจัยทั้ง10 หัวข้อในเล่มนี้ หวังว่าผลงานนี้จะมีส่วนให้มีการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น และด้วย"ธรรมาภิบาล" และ "ระบบคุณธรรม" ในสังคมไทย ไปถึง "โรงพยาบาลคุณธรรม" และ “องค์กรคุณธรรม” ตามแนวทางที่ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีมอบไว้ ผลดีจะขยายไปยังประชาชนผู้เจ็บป่วยทุกคนในอนาคต ซึ่งเป็นไปดังพระราชดำรัสฯ

"ความสำเร็จของการศึกษาที่แท้จริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีความรู้มาก
แต่ขึ้นอยู่กับการนำเอาความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้มากเพียงไร"

พระราชดำรัส สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 

เขียนโดย : พลอากาศโท นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ
ผู้อำนวยการหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง
เลขาธิการแพทยสภา



ล็อกอินเข้าสู่ระบบ


อีเมล *
รหัสผ่าน *
  ลืมรหัสผ่าน ?