โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งที่ 4(ปธพ.4)


โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งที่ 4(ปธพ.4)

วันที่ 13 มีนาคม 2559 
ณ โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 ที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี พร้อมด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ศ.นพ.เหลือพร ปุณณกันต์ ประธานนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่น 4(ปธพ.4) เปิดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครั้งที่ 4 ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 84 พรรษา  

โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า และกระทรวงสาธารณสุข เป็นการจัดหน่วยแพทย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศบูรณาการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน โดยทีมแพทย์เฉพาะทางจากส่วนกลางทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้เครือข่ายของระบบสาธารณสุขในพื้นที่เป็นแกนหลักในการดำเนินงานทั้งในด้านสถานที่ บุคลากรและการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโครงการแรกและโครงการเดียวของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ที่ต้องเข้ารับการรักษาในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิในพื้นที่ใกล้เคียง มีโอกาสได้รับการตรวจรักษาจากอาจารย์แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกซ้อมการสร้างระบบโรงพยาบาลสนาม เพื่อซักซ้อมความร่วมมือและใช้ได้จริงในกรณีมีความจำเป็นเช่น กรณีเกิดภัยพิบัติ ส่งเสริมการสร้างจิตอาสา และการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน ในการเรียนรู้และจัดบริการระบบสุขภาพแก่ประชาชนร่วมกันสำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการในลักษณะโรงพยาบาลสนาม ครอบคลุมการให้บริการทางการแพทย์ระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ และให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ประชาชน ในคลินิกเฉพาะทาง 21 คลินิก มีทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อาสากว่า 500 คน ได้แก่

1.คลินิกสูตินรีเวชกรรม-หญิงวัยทอง, 2.คลินิกศัลยกรรมทั่วไป และคลินิกเต้านม, 3.คลินิกทางเดินปัสสาวะ, 4.คลินิกโรคไต, 5.คลินิกโรคหัวใจและหลอดเลือด, 6.คลินิกออร์โธปิดิกส์และกระดูกพรุน, 7.คลินิกจักษุ, 8.คลินิกหู  คอ  จมูก, 9.คลินิกฝังเข็ม, 10.คลินิกแพทย์แผนไทย, 11.คลินิกกายอุปกรณ์, 12.คลินิกโรคผิวหนัง, 13.คลินิกกุมารเวชกรรม, 14.คลินิกโรคทางเดินอาหาร  ตับ  ถุงน้ำดี, 15.คลินิกสุขภาพจิตและจิตเวช, 16.คลินิกทันตกรรม, 17.คลินิกชายวัยทอง, 18.คลินิกโรคทั่วไป, 19.คลินิกตรวจสุขภาพและทดสอบสมรรถภาพร่างกาย, 20.คลินิกอายุรกรรม และอีก 3 หน่วยงานที่ให้คำแนะนำปรึกษาคือ 1.คลินิกกฏมาย, 2.คลินิกเลิกบุหรี่ , 3.บริจาคโลหิต

มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรอคิวเข้ารับการผ่าตัดในพื้นที่นครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง ให้ได้รับการบริการที่เร็วขึ้น โดยได้ดำเนินการล่วงหน้ากว่า2 เดือน ตั้งเป้าตรวจรักษาประชาชนไม่น้อยกว่า 8,448 ราย อาทิ ผ่าตัดเยื่อแก้วหูทะลุ 84 คน ผ่าตัดหัวใจ 84 ดวง ผ่าตัดตาต้อกระจก 50-70 ตา คัดกรองเบาหวานเข้าตา 300 คน เป็นต้น ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

          โดยจะมีประชาชนเข้ารับการตรวจรักษาทั้งสิ้น 10,321 ราย ซึ่งโครงการฯ ดำเนินงานสำเร็จลุล่วง สมดังวัตถุประสงค์ทุกประการ